เมนู

บทความ

อสังหาทรัพย์คืออะไร มีกี่ประเภท แล้วต่างจากสังหาทรัพย์ยังไง

อสังหาทรัพย์คืออะไร มีกี่ประเภท แล้วต่างจากสังหาทรัพย์ยังไง

  สังหาทรัพย์ และอสังหาทรัพย์ เป็นคำที่หลาย ๆ คนพอจะคุ้นเคยกันอยู่บ้าง แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า ความหมายที่แท้จริงของสังหาทรัพย์ และอสังหาทรัพย์คืออะไร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจ เนื่องจากมีผลต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน อีกทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิทธิในทรัพย์สินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในบทความนี้ CP LAND จึงจะพาคุณมาทำความรู้จักว่า สังหาทรัพย์ และอสังหาทรัพย์คืออะไร? มีความแตกต่างกันยังไงบ้าง? แล้วอสังหาทรัพย์มีกี่ประเภท? เพื่อให้คุณมีความเข้าใจเกี่ยวกับสังหาทรัพย์และอสังหาทรัพย์มากขึ้น  

อสังหาทรัพย์คืออะไร?

อสังหาทรัพย์ คือคำเรียกแบบภาษาปาก ที่ใช้เรียกคำว่า อสังหาริมทรัพย์ โดยอสังหาทรัพย์ คือ ที่ดินและทรัพย์ที่ยึดติดอยู่กับที่ดิน มีลักษณะถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น เช่น อาคาร บ้านเรือน สำนักงาน โรงงาน เป็นต้น และทรัพย์ตามธรรมชาติที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น เช่น แม่น้ำ บึง แร่ กรวด ทราย เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เช่น สิทธิครอบครองที่ดิน สิทธิในการอยู่อาศัย เป็นต้น  

ลักษณะเด่นของอสังหาทรัพย์คืออะไร?

อสังหาริมทรัพย์ มีลักษณะเด่นที่ช่วยกำหนดมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่นักลงทุนอสังหาฯ ใช้ในการพิจารณาและกำหนดมูลค่าให้กับทรัพย์สิน โดยสามารถแบ่งลักษณะเด่นได้ทั้งหมด 4 ลักษณะ ดังนี้  

1. มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก

มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวทรัพย์สิน แต่จะขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งและสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น หากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ราคาของอสังหาริมทรัพย์ก็จะตกลงไปด้วย ซึ่งช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงที่นักลงทุนมักจะช้อนซื้อเพื่อนำไปขายต่อในภายหลังเมื่อราคาเพิ่มสูงขึ้น  

2. อสังหาริมทรัพย์จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเงินค่อนข้างช้า

เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์โดยส่วนใหญ่ จะมีราคาสูง ทำให้ผู้ซื้อต้องใช้เงินจำนวนมาก หรือต้องผ่านการขอสินเชื่อกับธนาคารเพื่อนำเงินมาใช้ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น กว่าที่ผู้ขายจะสามารถขายและรับเงินก้อนโตกลับมาได้ ผู้ซื้อก็จะต้องใช้เวลาในการพิจารณาค่อนข้างนาน  

3. ราคาของอสังหาริมทรัพย์มักจะเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ

มูลค่าทรัพย์สินสำหรับการขาย หรือปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ จะเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เจ้าของพื้นที่ปล่อยราคาขาย เช่า และฝากขายไว้ในระยะยาวเพื่อรอให้อสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าสูงขึ้นได้  

4. มีอายุขัยที่ยาวนาน

อสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ จะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 50-100 ปี ทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์สามารถใช้ประโยชน์จากการขายฝากหรือปล่อยเช่า เพื่อสร้างรายได้ในระยะยาวได้อย่างต่อเนื่อง  

ประเภทของอสังหาทรัพย์แบ่งตามการใช้สอย

อสังหาทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ สามารถแบ่งได้ทั้งหมด 5 ประเภทตามลักษณะและการใช้งาน ดังนี้
  • อสังหาริมทรัพย์เพื่อการเกษตร เช่น ที่นา ไร่ สวน และพื้นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับการทำการเกษตร
  • อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย เช่น บ้าน คอนโดมิเนียม อะพาร์ตเมนต์ ทาวน์เฮาส์ บ้านจัดสรร เป็นต้น
  • อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ เช่น อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ตลาดสด ศูนย์ประชุม เป็นต้น
  • อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม เช่น โรงงาน โกดัง และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม
  • อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักผ่อน เช่น โรงแรม รีสอร์ต บังกะโล เป็นต้น
 

ประเภทของอสังหาทรัพย์ตามนิยามจากประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139

นิยามของอสังหาทรัพย์ หรืออสังหาทรัพย์ตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139 ระบุไว้ว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การพาณิชย์ และเป็นพื้นที่พักผ่อน ต้องประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย ดังนี้
  • ที่ดิน ได้แก่ พื้นที่ราบ ภูเขา หนอง คลอง บึง ห้วย ทะเลสาบ ชายทะเล เกาะ เป็นต้น
  • ทรัพย์อันติดกับที่ดิน ได้แก่ บ้านทุกประเภท อาคาร และสิ่งปลูกสร้างทุกชนิด
  • ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน ได้แก่ พื้นที่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง พื้นดิน ทราย แร่ธาตุ เป็นต้น
และนอกจากทั้ง 3 องค์ประกอบข้างต้นแล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอสังหาทรัพย์ คือ “ทรัพย์สิทธิ” ซึ่งหมายถึงสิทธิต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน โดยทรัพย์สิทธิจะเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง แต่มีราคา เช่น สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิอาศัย สิทธิครองที่ดิน เป็นต้น  

สังหาทรัพย์คืออะไร?

สังหาทรัพย์ คือคำเรียกแบบภาษาปาก ที่ใช้เรียกคำว่าสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์ และรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้นด้วย โดยสังหาริมทรัพย์ จะเป็นทรัพย์สินที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ไม่ติดอยู่กับพื้นดิน อาจเป็นทรัพย์ที่มีรูปร่าง เช่น รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องประดับ เป็นต้น หรือทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เป็นต้น  

สังหาริมทรัพย์มีกี่ประเภท?

สังหาริมทรัพย์สามารถแบ่งได้ทั้งหมด 2 ประเภท ได้แก่ สังหาริมทรัพย์ทั่วไป และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ
  • สังหาริมทรัพย์ทั่วไป  ได้แก่ ทรัพย์สินที่นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์ ที่เคลื่อนที่ได้ด้วยแรงธรรมชาติ หรือแรงกายภาพ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นต้น
  • สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ เป็นทรัพย์สินที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ซึ่งถ้าจะต้องจำหน่าย จ่าย หรือโอนให้กัน จะต้องมีการทำนิติกรรมต่อเจ้าหน้าที่พนักงานเหมือนกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น เรือกำปั่นที่มีระวางหกตันขึ้นไป เรือกลไฟ สัตว์พาหนะ เป็นต้น
 

ความแตกต่างของสังหาทรัพย์ และอสังหาทรัพย์คืออะไร?

เมื่อได้อ่านมาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนก็น่าจะเห็นความแตกต่างของสังหาทรัพย์ และอสังหาทรัพย์กันไปบ้างแล้ว แต่เพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบ CP LAND จึงจะมาจำแนกความแตกต่างของสังหาทรัพย์และอสังหาทรัพย์เป็นตารางเปรียบเทียบ  
อสังหาทรัพย์ สังหาทรัพย์
ความหมาย ทรัพย์สินที่ติดอยู่กับที่ดิน ทรัพย์อื่นนอกจากอสังหาทรัพย์
ทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน อาคาร ที่ดิน พื้นที่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ รถยนต์ เครื่องประดับ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร
ระยะครอบครองปรปักษ์ 10 ปี 5 ปี
ทรัพย์สิทธิ มีทรัพย์สิทธิ เช่น สิทธิอาศัย สิทธิครองที่ดิน ไม่มีทรัพย์สิทธิ
การยืนยันเป็นเจ้าของ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องมีเอกสารยืนยันเจ้าของกรรมสิทธิ์ เจ้าของสังหาริมทรัพย์ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารยืนยันเจ้าของกรรมสิทธิ์
มูลค่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี มีมูลค่าต่ำลงตามอายุการใช้งาน
 

สรุปบทความ

ได้ทราบกันไปแล้วว่า สังหาทรัพย์และอสังหาทรัพย์คืออะไร รวมถึงความแตกต่างของทรัพย์สินทั้ง 2 ประเภท CP LAND เชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณเข้าใจคำว่าอสังหาทรัพย์มากขึ้นได้แล้ว ยังได้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะเด่นที่ส่งผลต่อมูลค่าของอสังหาทรัพย์ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการซื้อ-ขายเก็งกำไรได้เป็นอย่างดี  และสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาอสังหาริมทรัพย์น่าลงทุน ไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรร หรือคอนโด สามารถเข้ามาเยี่ยมชมโครงการที่ CP LAND ได้เลย โดยสามารถนัดหมายเพื่อเข้ามาเยี่ยมชมโครงการหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่