เมนู

บทความ

อัปเดตอัตราดอกเบี้ยบ้าน 2567 ทุกธนาคาร

อัปเดตอัตราดอกเบี้ยบ้าน 2567 ทุกธนาคารล่าสุด

  หากคุณมีแผนจะซื้อบ้านสักหลัง นอกจากการหาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการบ้านที่ตอบโจทย์กับความต้องการและงบประมาณของตัวเองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การทำความรู้จักอัตราดอกเบี้ยบ้านให้ถี่ถ้วน เนื่องจากดอกเบี้ยบ้านจะเป็นตัวกำหนดการผ่อนชำระค่างวด ที่ช่วยให้คุณสามารถบริหารจัดการและวางแผนทางการเงินได้อย่างเป็นระเบียบ นอกจากนี้การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดอกเบี้ยบ้าน ยังช่วยให้คุณสามารถเปรียบเทียบและเลือกธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยถูกที่สุด ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถจัดการสินเชื่อให้หมดไวขึ้นได้อีกด้วย  ซึ่งในบทความนี้ CP LAND ก็ไม่พลาดที่จะรวบรวมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 2567 ทุกธนาคารล่าสุด มาอัปเดตให้คุณได้ทราบกัน นอกจากนี้เรายังจะพาคุณไปทำความรู้จักกับประเภทของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่คนที่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย  

ทำความรู้จัก 3 ประเภทของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน

อย่างที่เราได้บอกไปข้างต้นว่า อัตราดอกเบี้ยบ้านเป็นตัวกำหนดการผ่อนชำระค่างวดจากการขอสินเชื่อ ดังนั้น การทำความรู้จักประเภทของดอกเบี้ยบ้านก็จะช่วยให้คุณมีความเข้าใจและสามารถเลือกดอกเบี้ยที่ดีที่สุดได้ โดยดอกเบี้ยบ้านแบ่งได้ทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้  

1. อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate Loan)

เป็นอัตราดอกเบี้ยบ้านที่มีกำหนดคงที่ไว้ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน โดยอัตราดอกเบี้ยคงที่ยังสามารถแบ่งย่อยได้อีก 3 ประเภท ได้แก่
  • ดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลากู้ เป็นอัตราดอกเบี้ยบ้านที่ผู้กู้จะต้องชำระดอกเบี้ยเท่าเดิมตลอดระยะเวลาอายุของสัญญากู้ยืมเงิน โดยไม่มีการปรับตัวขึ้นหรือลดลง ทำให้ผู้กู้สามารถวางแผนทางการเงินได้ง่าย เพราะชำระเงินแต่ละงวดเท่ากันทุกเดือน และมีการระบุระยะเวลาในการผ่อนชำระที่ชัดเจน
  • ดอกเบี้ยคงที่ช่วงต้น เป็นอัตราดอกเบี้ยที่คงที่ในช่วงแรกของการผ่อนบ้าน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 1-5 ปีแรก หลังจากนั้นดอกเบี้ยจะถูกปรับเป็นดอกเบี้ยลอยตัว ตามสถานเศรษฐกิจในขณะนั้น
  • ดอกเบี้ยคงที่แบบขั้นบันได เป็นอัตราดอกเบี้ยที่มีธนาคารกำหนดให้คงที่เป็นช่วง ๆ แล้วค่อยปรับขึ้นทีละขั้นในปีถัดไป
 

2. อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Loan)

อัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะมีการปรับล่วงหน้า ปรับปีละกี่ครั้ง และไม่ได้มีค่าแน่นอน โดยจะมีการผันแปรไปตามสภาพเศรษฐกิจ และต้นทุนทางการเงินของธนาคาร ซึ่งดอกเบี้ยประเภทนี้อาจทำให้ผู้กู้ไม่สามารถวางแผนการเงินได้ เนื่องจากต้องผ่อนชำระแต่ละเดือนไม่เท่ากัน นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวนี้ยังสามารถแบ่งย่อยได้อีก 3 ประเภท ได้แก่
  • MLR หรือ Minimum Loan Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวขั้นต่ำ ที่ธนาคารมักจะเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ที่มีประวัติการชำระเงินดี มักใช้กับสินเชื่อธุรกิจที่เป็นการกู้เงินระยะยาวและมีการกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจน
  • MRR หรือ Minimum Retail Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวขั้นต่ำ ที่ธนาคารมักจะเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยที่มีประวัติการชำระเงินดี ที่มักจะใช้กับสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย
  • MOR หรือ Minimum OVerdraft Rate หรือการเบิกเงินเกิน OD ที่ธนาคารจะมีการพิจารณาให้สินเชื่ออย่างเข้มงวด โดยจะใช้อ้างอิงสำหรับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทมีวงเงินเบิกเกินบัญชี มักใช้กับสินเชื่อธุรกิจ
 

3. ดอกเบี้ยปรับคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา (Rollover Mortgage)

เป็นอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดอัตราคงที่ แต่จะมีการปรับตามรอบระยะเวลาที่แน่นอน โดยอัตราดอกเบี้ยอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ เช่น หากมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ในรอบเวลา 5 ปี เท่ากับว่าทุก ๆ 5 ปีจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ตลอดระยะเวลาการผ่อน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นได้  
ธนาคาร อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี* MRR/MLR วงเงินกู้สูงสุด ระยะเวลากู้ (ปี)
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 3.00% 6.9000 1.5 ล้านบาท 40
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 5.03% 7.4000 110% 30
ธนาคารกรุงไทย 3.60% 7.5700 100% 40
ธนาคารกรุงเทพ 3.72% 7.3000 100% 30
ธนาคารออมสิน 3.70% 6.8450 100% 30
ธนาคารกสิกรไทย 3.45% 7.3000 100% 30
ธนาคารไทยพาณิชย์ 3.37% ​7.3000 100% 30
ธนาคารทหารไทยธนชาต 3.70% 7.8300 110% 35
ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ 3.45% 8.8000 110% 40
ธนาคารยูโอบี 3.35% 8.8000 100% 40
 

6 วิธีเลือกอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 2567 ให้คุ้มค่าที่สุด

ได้อัปเดตอัตราดอกเบี้ยบ้าน 2567 ทุกธนาคารล่าสุดกันไปแล้ว CP LAND ก็จะมาแนะนำวิธีเลือกอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 2567 ให้ได้ดอกเบี้ยในอัตราที่คุ้มค่าที่สุด โดยมีทั้งหมด 6 วิธี ดังนี้  

1. เลือกประเภทสินเชื่อให้ถูกต้อง

สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อต้องการซื้อบ้านก็คือ การเลือกประเภทของสินเชื่อให้ถูกต้อง เนื่องจากสินเชื่อนั้นมีหลากหลายประเภท หากต้องการขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ก็ให้มองหาสินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ และอาคารชุด เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของเงื่อนไขสินเชื่อจากแต่ละธนาคาร  

2. เช็กวงเงินกู้

คุณสามารถเช็กวงเงินกู้ด้วยตัวเองได้แบบคร่าว ๆ ด้วยการนำราคาบ้าน หักออกด้วยจำนวนเงินสดที่คุณนำไปจ่ายเพื่อซื้อบ้าน โดยจำนวนเงินที่ขาดไปจะเป็นจำนวนเงินที่เราต้องการจะขอสินเชื่อบ้านกับธนาคาร ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คุณสามารถเลือกธนาคารที่ให้วงเงินกู้เพียงพอกับความต้องการของคุณได้ เพราะโดยทั่วไปแล้ว ธนาคารมักจะให้วงเงินกู้ประมาณ 70-80% ของราคาประเมินหรือราคาขาย โดยถือเอาราคาที่ต่ำกว่าเป็นหลัก แต่ในบางกรณีธนาคารอาจให้วงเงินกู้สูงขึ้นประมาณ 90-100%  

3. ระยะเวลากู้

เมื่อพิจารณาธนาคารที่ให้วงเงินกู้ในจำนวนที่ต้องการได้แล้ว ลำดับต่อไปก็จะต้องมาพิจารณาระยะเวลากู้ว่า สามารถกู้ได้นานเท่าไหร่ ตรงกับระยะเวลาที่คุณต้องการหรือไม่ เพราะโดยปกติแล้ว ระยะเวลากู้ที่ธนาคารกำหนดจะอิงจากหลักเกณฑ์สำคัญคือ อายุของผู้กู้รวมกับระยะเวลากู้ ต้องไม่เกิน 65-70 ปี ดังนั้น ผู้กู้ที่มีอายุน้อยก็จะได้ระยะเวลากู้ที่มากกว่าผู้กู้ที่มีอายุมาก  

4. อัตราดอกเบี้ย

เนื่องจากเงินที่ผู้กู้ต้องจ่ายในแต่ละงวด จะประกอบไปด้วย เงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้ยืม ทำให้การเปรียบเทียบและเลือกอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด จะช่วยให้เงินที่จ่ายถูกนำไปหักกับเงินต้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยและทำให้ผ่อนหมดได้เร็วขึ้น สำหรับวิธีเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยสามารถทำได้ด้วยการนำอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อแต่ละตัว มาเฉลี่ยเป็นอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุของสินเชื่อ โดยให้ปรับออกมาเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปี ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยระหว่างสินเชื่อได้ง่ายขึ้น  

5. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของธนาคาร

เนื่องจากธนาคารแต่ละแห่งจะการกำหนดเงื่อนไข และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการหรือกรณีอื่น ๆ ไม่เท่ากัน ดังนั้น การศึกษารายละเอียดค่าใช้จ่ายและเงื่อนไขเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถเตรียมความพร้อมได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
  • ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ในกรณีที่มีการผิดนัดชำระ ธนาคารจะทำการคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งในแต่ละธนาคารก็จะมีการกำหนดไว้ไม่เท่ากัน
  • ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ธนาคารบางแห่งจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมในการยื่นกู้
  • ค่าใช้จ่ายในการประเมินมูลค่าหลักประกัน ในกรณีที่เป็นบ้านจัดสรร มักจะไม่มีค่าใช้จ่ายในการประเมินเหล่านี้ เนื่องจากธนาคารสามารถใช้ราคาซื้อขายเป็นราคาประเมินได้เลย
  • ค่าธรรมเนียมจำนองหลักประกัน เป็นค่าใช้จ่ายในการนำบ้านเข้าจดจำนองกับกรมที่ดินเพื่อใช้เป็นหลักประกันกับธนาคาร ซึ่งผู้กู้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โดยจะมีค่าธรรมเนียมในการจดจำนองร้อยละ 1 แต่ไม่เกิน 200,000 บาท 
  • ค่าประกันอัคคีภัย เป็นเงื่อนไขที่ธนาคารทุกแห่งกำหนดให้ผู้ขอสินเชื่อทำประกันอัคคีภัย ซึ่งผู้กู้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
  • ค่าประกันชีวิตเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นเพียงข้อเสนอที่ผู้กู้สามารถเลือกทำได้ตามสมัครใจ
  • ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนก่อนกำหนด เป็นเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดไว้ ในกรณีที่ผู้กู้ต้องการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนอายุสินเชื่อ ผู้กู้จะต้องมีการเสียค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารในอัตราที่แต่ละธนาคารกำหนดไว้
 

สรุปบทความ

และทั้งหมดนี้ก็คือ อัปเดตอัตราดอกเบี้ยบ้าน 2567 ทุกธนาคารล่าสุดและวิธีเลือกอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านให้คุ้มค่าที่ CP LAND รวบรวมมาแนะนำ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถเปรียบเทียบและเลือกธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยคุ้มค่าที่สุดได้อย่างสะดวกสบาย ทั้งนี้ หากคุณกำลังมองหาบ้านเดี่ยวหรือคอนโดฯบนทำเลดี ๆ ที่ CP LAND ก็มีให้เลือกหลากหลายโครงการ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยสามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ ผ่านช่องทางดังนี้